ลุยเก็บภาษีคาร์บอน รับเทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว
ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ โดย “แพทองธาร ชินวัตร” ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เก้าอี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายตำแหน่งมีการเปลี่ยนแปลง
ยกเว้นกระทรวงการคลัง ขุนคลังยังคงเป็น “พิชัย ชุณหวชิร” เป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อม “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” และ “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ
กระทรวงการคลัง
ครั้งนี้ “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” ได้รับมอบหมายให้ดูแล กรมสรรพสามิต จากเดิมในรัฐบาลก่อนหน้า “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ดูแลทั้ง 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร
ภายใต้ภารกิจกำกับกรมสรรพสามิต รัฐมนตรีเผ่าภูมิ ระบุ ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ขณะนี้กระทรวงการคลังจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีคาร์บอนขั้นสุดท้าย คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ได้ทันภายในปี 2567
แนวคิดการเดินหน้าภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax เกิดจากปัญหาหลักของประเทศไทยสำคัญที่สุด คือ คนผลิตที่ไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ถูกจ่ายราคาในการสร้างมลพิษ ซึ่งเวลานี้มีความสำคัญ หากไม่มีราคาที่ต้องจ่ายในการสร้างมลพิษ ทุกคนก็ปล่อยมลพิษ
ฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศ คือ ราคาของคาร์บอน (Carbon price) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอน ที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น เพราะเราใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของกรมสรรพสามิต
Advertisement
“ยกตัวอย่างวิธีการคำนวณ เช่น เดิมการเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 6 บาท หากปรับเปลี่ยนแล้วจะกลายเป็นเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาท แต่ส่วนที่เหลือเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้น ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม สมการคิดของภาษีคาร์บอน คือ นำคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมัน คูณด้วยราคาต่อยูนิต ออกมาเป็นราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้น ต่อจากนี้ประเทศไทยจะมีราคาของคาร์บอนอยู่ในสินค้าที่ผลิตคาร์บอน” รัฐมนตรีเผ่าภูมิ ระบุ
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินภาษีดังกล่าว จากนี้จะเกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้า ที่มีคาร์บอนต่ำลง เพราะท่านจะเสียภาษีคาร์บอนที่ต่ำลง ผู้ที่ผลิตสิ่งนั้นได้ ก็จะเป็นผู้ชนะในตลาด ส่งผลให้เกิดการหาน้ำมันที่สะอาดขึ้น ถือเป็นการใช้มาตรการทางภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตต่างๆ กลับกันหากไม่สนใจ หรือละเลยสิ่งแวดล้อม ราคาที่ต้องจ่ายก็จะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ราคาในจุดแรกไม่กระทบประชาชน
ด้าน “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุเพิ่มเติมว่า ภาษีคาร์บอน ใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันเดิม ให้กลายไปเป็นภาษีคาร์บอน ดังนั้น แม้จะเป็นภาษีใหม่ แต่จะไม่สร้างภาระให้กับประชนแน่นอน เพราะจะใช้วิธีการวัดค่าการปล่อยคาร์บอนของน้ำมันแต่ละชนิดมาคำนวณเพื่อจัดเก็บภาษีคาร์บอน
ปัจจุบัน ในหลายประเทศใช้เกณฑ์ตามมาตรฐานโลก ที่จะบอกว่า น้ำมันแต่ละชนิด แต่ละสูตร ทั้งเบนซิน ดีเซล น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา มีการปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ เช่น น้ำมันเบนซิน มีค่าปล่อยที่ 0.002237347 ตันคาร์บอน/ลิตร ซึ่งนำไปคูณกับราคาคาร์บอนที่กำหนดโดยภาครัฐ โดยเบื้องต้นจะอยู่ที่ 200 บาท/ตันคาร์บอน ซึ่งเป็นราคาที่ศึกษามาจากประเทศที่มีการตั้งราคาคาร์บอนแล้ว อาทิ สิงคโปร์ ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาภาษีคาร์บอนจะอยู่ที่ 0.45 บาท/ลิตร
เพราะฉะนั้น เมื่อเทียบกับปกติ น้ำมันเบนซิน จะเสียภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 6.44 บาทต่อลิตร และเราก็นำภาษีคาร์บอน 0.54 บาทต่อลิตรไปรวมไว้ใน 6.44 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ใช้น้ำมัน และไม่ได้กระทบกับรายได้รัฐ
“สิงคโปร์เป็นชาติแรกในอาเซียนที่ เริ่มเก็บภาษีคาร์บอนในราคาเริ่มต้น 5 ดอลลาร์ สิงคโปร์ หรือประมาณ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันปรับขึ้นไปที่ 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยก็จะเริ่มเก็บเช่นกัน โดยจากการศึกษาร่วมกับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ได้ผลว่าควรจะเริ่มเก็บในราคาเริ่มต้นก่อน เพื่อให้ประชาชนปรับตัว ที่ 200 บาทต่อต้นคาร์บอนก่อน ใกล้เคียงที่ราคาเริ่มต้นของสิงคโปร์ และการก้าวไปครั้งนี้ไทยจะเป็นประเทศที่สองในอาเซียนที่มีภาษีคาร์บอน” อธิบดีเอกนิติ ระบุ
สำหรับ การเก็บภาษีคาร์บอน ของกรมสรรพสามิตนั้น สามารถทำได้เลยทันที เพียงแก้กฎกระทรวง เปลี่ยนแปลงการ โครงสร้างภายในของภาษีน้ำมัน เพิ่มเป็นการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ตามมาตรฐานสากล ใส่เข้าไปด้วย ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ และเรื่องของภาษีคาร์บอนนั้น กรมได้เสนอไปที่ ครม.แล้ว รอเข้านำเสนอในเร็วๆ นี้
ในระยะต่อไป เพื่อให้เป็นภาษีคาร์บอนโดยเฉพาะนั้น จะต้องรอให้ พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพฏมิอากาศหรือพ.ร.บ.โลกร้อน ออกมาอย่างชัดเจนก่อน เพื่อให้มีทิศทางเดียวกัน ประกอบกับการกำหนดราคาคาร์บอน ที่กรมสรรพสามิตต้องหารือร่วมกับกรมโลกร้อน
“ปัจจุบันสหภาพยุโรป ได้มีการบังคับใช้ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM โดยกําหนดการเก็บภาษีสินค้าที่มีการปล่อยมลภาวะสูง 5 หมวด ได้แก่ ปุ๋ย ซีเมนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม ไฟฟ้าและไฮโดรเจน ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของไทย คือ เหล็ก กับ ซีเมนต์ หากมีการเก็บภาษีคาร์บอนจะช่วยได้ แต่ปัจจุบันไทยกําลังเจรจากับ CBAM ว่าจะหักลบได้เท่าไร เพราะยังออกมาตรฐานมาไม่ชัด ซึ่งสิงคโปร์เองเจรจาอยู่เช่นกัน” อธิบดีเอกนิติทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง โดย กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร จะย้ายมาเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต ส่วนเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต จะย้ายไปอธิบดีธนารักษ์ แทนตำแหน่งที่เกษียณ ตามมติ ครม.
แต่เชื่อว่า ภาษีคาร์บอน จะเดินหน้าไปต่อแน่นอน!!… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/economy/news_4833376