แบงก์ลุยเฟส 2 ดันสินเชื่อสีเขียว 5 แสนล้าน เปลี่ยนผ่าน 5 อุตฯสู่ Net Zero

22 ตุลาคม 2567

สมาคมธนาคารไทย ชี้แบงก์พาณิชย์ พร้อมปล่อยกู้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ดันธุรกิจยั่งยืน ระบุมีความต้องเม็ดเงินถึง 4-5 แสนล้านต่อปี เล็งเป้าเฟส 2 จับลูกค้าภาคก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร และจัดการของเสีย
นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย หัวหน้าคณะสนับสนุน แผนยุทธศาสตร์กลุ่มที่ 4 Theme Sustainability สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience) โดยจะดำเนินการตามปฏิญญาสากลที่ให้ไว้ในการประชุม COP26 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% หรือมากกว่านั้น ในปี 2030 (2573) และสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 (2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี 2065(2608) นั้น

ทั้งนี้ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชนมองเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจหากไม่สามารถทำได้ แต่อีกด้านหนึ่งจะเป็นโอกาสที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันหากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย

ในส่วนของภาคการเงินเป็นภาคที่จะให้การสนับสนุนภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถเปลี่ยนผ่านและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์หรือภาคการเงินได้มีโพรดักส์ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ค่อนข้างใหม่ ที่เรียกว่า ESG Finance หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับมิติด้านความยั่งยืน (Sustainable Finance Products)

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ที่เป็นที่คุ้นเคยในปัจจุบัน เช่น พันธบัตรสีเขียว หรือหุ้นกู้สีเขียว (กรีนบอนด์ / กรีนโลน) ที่มีการเปิดตัวครั้งแรกในปี 2561 เพื่อรองรับความต้องการลงทุนของภาคธุรกิจในการที่จะเปลี่ยนผ่านเพื่อยกระดับสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่ความยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต

ทั้งนี้จากข้อมูลระบุ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องการเงินทุนที่จะลงทุนในเรื่อง Climate Change มีถึง 2-3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในส่วนของประเทศไทยทางสหประชาชาติคาดมีความต้องการเม็ดเงินเข้าไปลงทุนในธุรกิจในอุตสาหกรรมที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านประมาณ 4-5 แสนล้านบาทต่อปี ถือเป็นเม็ดเงินที่มีจำนวนไม่น้อย

สำหรับในปีที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทยได้มีการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะที่ 1(Thailand Taxonomy : Phase I) โดยมุ่งเป้าในภาคพลังงานและภาคขนส่งที่ถือเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนรวมกันประมาณ 70% ของภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

โดยได้จัดหมวดหมู่กิจกรรมแบ่งออกเป็น กิจกรรมสีเขียว (กิจกรรมที่ลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน) กิจกรรมสีเหลือง(กิจกรรมที่อยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) และกิจกรรมสีแดง (กิจกรรมที่ไม่ได้สนับสนุนเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก)

“ในฐานะที่เราเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับลูกค้า มองเห็นว่าเป็นโอกาสในทางธุรกิจด้วยในการที่จะช่วยอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีแดง หรือสีเหลือง ที่เราจะช่วยเขาในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ธนาคารเองก็มีความเสี่ยง อย่างไรก็ดีการมีการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในระยะที่ 1 ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นการสร้างความชัดเจนว่าอุตสาหกรรมไหนในปัจจุบันที่ธนาคารจะเร่งสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันถ้าดูในพอร์ตสินเชื่อของธนาคารมีทั้งสามสี และอาจจะมีมากในส่วนของกิจกรรมสีเหลือง”

ปัจจุบัน Taxonomy ในเฟสที่ 1 ยังครอบคลุมเพียงแค่ 2 ภาคอุตสาหกรรมคือ ภาคพลังงานและภาคขนส่ง ซึ่งเวลานี้อุตสาหกรรมในภาคพลังงานของไทยที่มีโครงสร้างอยู่ในกลุ่มสีเขียวจริง ๆ มีสัดส่วนประมาณ 10-12% ของภาพรวม ส่วนอีก 50-60% จะเป็นกลุ่มสีเหลือง และอีกประมาณ 20% เป็นกลุ่มสีแดง ดังนั้นจึงมีความต้องการทั้งจากฝั่งภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ และเป็นโอกาสทางธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในการที่จะช่วยให้กลุ่มธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรมได้มีการปรับตัว และมีการเปลี่ยนผ่าน

ขณะที่ในระยะต่อไปธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. )และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมิติด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะที่ 2 (Thailand Taxonomy : Phase II) ที่จะเป็นเป้าหมายต่อไปของภาคการเงินที่จะให้การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในเฟสที่ 2 นี้จะครอบคลุมภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคส่วนอื่น ๆ (อุตสาหกรรมการผลิต, การเกษตร, การจัดการของเสีย) รวมในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 90% ของภาพรวมประเทศ

“สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน ด้วยมีความต้องการในเรื่องของการที่จะระดมเงินทุน เข้าสู่ธุรกิจเขียว แดง และเหลือง เพราะฉะนั้นในฝั่งของธนาคารเอง เรามีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมทางการเงินทั้งกรีนบอนด์-กรีนโลน ซึ่งก็คือสินเชื่อสีเขียว หรือหุ้นกู้สีเขียวได้รับความนิยมมากเพราะมันชัดเจนในการที่บริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทชั้นนำ ต้องการที่จะระดมทุนหรือมีเป้าหมายในการลงทุนในกิจกรรม หรือธุรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว”

ที่ผ่านมากรีนบอนด์ หรือ ESG Bonds มีการออกในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2018 (2561) ปีล่าสุดมีการออกกรีนบอนด์ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ปัจจุบันยอดรวมสะสมของหุ้นกู้ที่มีความเชื่อมโยงในเรื่องมิติของความยั่งยืนสูงถึง 3.5 แสนล้านบาท(ยอดคงค้างของ ESG หรือหุ้นกู้ ESG ในตลาดไทย) ซึ่งเริ่มจาก 7,000 ล้านบาทถือว่ามากพอสมควร แต่ก็ยังไม่มากพอเพราะมีความต้องการถึง 4-5 แสนล้านบาทต่อปีในการลงทุน ซึ่งภาคการเงินจะให้การสนับสนุนภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมต่อไป

Tags: #การเกษตร #พลังงาน #อสังหาริมทรัพย์ #สมาคมธนาคารไทย #แบงก์ #ความยั่งยืน

Source: https://www.thansettakij.com/climatecenter/net-zero/609942